วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

บทที่ 11 ระบบการวางแผนทรัพยากรองค์การ

ระบบการวางแผนทรัพยากรองค์การ
ERP เป็นระบบสารสนเทศที่บูรณาการงานหลักต่าง ๆ ขององค์การเข้าด้วยกันโดยเชื่อมโยงกันแบบเรียลไทม์ (Real Time) เพื่อตอบสนองความต้องการข้อมูลหรือสารสนเทศโดยภาพรวมและการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ระบบช่วยให้กระบวนการทำงาน ภายในองค์การเป็นไปโดยอัตโนมัติ รวดเร็ว ไม่ซ้ำซ้อนและสามารถช่วยลดต้นทุนทั้งระบบได้ โดยข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ ขององค์การจะถูกจัดเก็บไว้ที่เก็บข้อมูลส่วนกลางซึ่งผู้บริหารสามารถเข้าถึงและได้รับทราบข้อมูลที่ทันสมัยเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน เพื่อใช้ในการบริหารและกำหนดกลยุทธ์ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วทันเหตุการณ์
การนำ ERP มาใช้นั้นเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจในด้านกระบวนการบริหาร เทคโนโลยีพื้นฐาน และกระบวนการทำงานที่รวดเร็ว ทั้งนี้การติดตั้งและใช้งานระบบ ERP เป็นเรื่องที่ยาก ต้องใช้เวลาและเงินทุนสูงมากเนื่องจากต้องใช้ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการดำเนินธุรกิจและเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานภายในองค์การ สำหรับการนำระบบ ERP มาใช้ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก ๆ 4 ขั้นตอน คือ
(1) การศึกษาและวางแนวคิด
(2) การวางแผนนำระบบมาใช้
(3) การพัฒนาระบบ
(4) การใช้งานและปรับเพิ่มความสามารถ
โดยทั่วไปซอฟต์แวร์ ERP จะมีโครงสร้างประกอบด้วย
(1) ซอฟต์แวร์โมดูล
(2) ฐานข้อมูลรวม
(3) ระบบสนับสนุนการบริหารจัดการ
(4) ระบบสนับสนุนการพัฒนาและปรับเปลี่ยน
สำหรับปัจจัยที่ควรพิจารณาก่อนการตัดสินใจเลือกซอฟต์แวร์ ERP คือ (1) การพิจารณาว่าจะใช้ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปหรือไม่ (2) ฟังก์ชั่น ERP สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และความต้องการในการนำมาใช้งานขององค์การ (3) ความยืดหยุ่นในการปรับแก้ซอฟต์แวร์ (4) ต้นทุนในการเป็นเจ้าของระบบ (5) การบำรุงรักษาระบบ (6) รองรับการทำงานหรือเทคโนโลยีในอนาคต และ (7) ความสามารถของผู้ขายซอฟต์แวร์
องค์การหลายแห่งที่มีการนำ ERP มาใช้ได้ให้ความสำคัญกับการขยายขีดความสามารถของระบบ ERP (Extended ERP หรือ ERP Plus) ให้เชื่อมโยงกับองค์กรภายนอกได้ เช่น เชื่อมโยงระหว่างองค์การกับลูกค้า ผู้นำส่งวัตถุดิบ แล้วยังเชื่อมโยงระหว่างองค์การอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลร่วมกัน และประสานกระบวนการทางธุรกิจระหว่างองค์การ

ไม่มีความคิดเห็น: