วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สรุปบทที่ 10 ระบบสารสนเทศเชิงกลยุทธ์

ระบบสารสนเทศเชิงกลยุทธ์
องค์การส่วนมากมีการนำระบบสารสนเทศประเภทต่าง ๆ มาช่วยในการแก้ปัญหาหรือช่วยในการดำเนินงานให้มีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งในสภาพการดำเนินธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงนั้น ระบบสารสนเทศยังถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันหรือลดความเสียเปรียบให้กับองค์การ
ระบบสารสนเทศเชิงกลยุทธ์ คือ ระบบสารสนเทศใด ๆ ที่ช่วยลดความเสียเปรียบ หรือช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับองค์การ
กรอบแนวคิดเกี่ยวกับระบบสารสนเทศเชิงกลยุทธ์จะช่วยให้เข้าใจถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยสนับสนุนธุรกิจได้อย่างไร กรอบแนวคิดที่สัมพันธ์กับโมเดลของพอร์เตอร์ (Porter) คือ โมเดลแรงผลักดันในการแข่งขัน (Competitive Forces Model) และโมเดลห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain Model)
โมเดลแรงผลักดันในการแข่งขันประกอบด้วยแรงผลักดันจากผู้แข่งขันรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาด อำนาจการต่อรองของผู้ขายปัจจัยการผลิต อำนาจการต่อรองของผู้ซื้อหรือลูกค้า การแข่งขันระหว่างกิจการต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม และอุปสรรคที่เกิดจากสินค้าหรือบริการทดแทน โดยองค์การอาจใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เช่น กลยุทธ์ด้านราคา กลยุทธ์สร้างความแตกต่าง กลยุทธ์ด้านนวัตกรรม กลยุทธ์ด้านการเจริญเติบโต หรือกลยุทธ์ด้านพันธมิตร ฯลฯ เพื่อจัดการกับแรงผลักดันและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
โมเดลห่วงโซ่คุณค่าเน้นกิจกรรมหลัก (Primary Activites) และกิจกรรมสนับสนุน (Support Activities) ที่เพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าหรือบริการ ระบบสารสนเทศจะถูกนำมาใช้ใน กิจกรรมต่าง ๆ ของห่วงโซ่คุณค่าเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย หรือเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ ซึ่งอาจรวมถึงการสร้างสินค้าและบริการใหม่
แผนกลยุทธ์ธุรกิจและแผนกลยุทธ์ระบบสารสนเทศมีความสัมพันธ์กัน โดยแผน กลยุทธ์ธุรกิจจะเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางของแผนกลยุทธ์ระบบสารสนเทศ ในขณะที่แผนกลยุทธ์ระบบสารสนเทศเป็นเครื่องชี้ทิศทางแผนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์การ

ไม่มีความคิดเห็น: