วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สรุปบที่ 7ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ

การจัดการภายในองค์การ โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ การจัดการระดับสูง การจัดการระดับกลาง และการจัดการระดับต้น ซึ่งผู้บริหารแต่ละระดับมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต่างกันจึงมีความต้องการสารสนเทศที่แตกต่างกัน การตัดสินใจซึ่งเป็นบทบาทของผู้บริหารสามารถถูกจำแนกให้สอดคล้องกับระบบของการจัดการออกเป็น 3 ระดับเช่นกัน
(1) การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ เป็นการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงที่ให้ความสนใจในอนาคต
(2) การตัดสินใจเชิงยุทธวิธี เป็นการตัดสินใจของผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งจะเกี่ยวกับการจัดการเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ตามที่ผู้บริหารระดับสูงกำหนดไว้ และ
(3) การตัดสินใจเชิงปฏิบัติการ เป็นการตัดสินใจของผู้บริหารระดับปฏิบัติการหรือหัวหน้างานระดับต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานประจำหรือการปฏิบัติงานเฉพาะด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นกิจวัตร เพื่อให้ให้เกิดความมั่นใจว่าสามารถปฏิบัติงานเหล่านั้นได้ตามแผนที่วางไว้อย่างสำเร็จและมีประสิทธิภาพ
การตัดสินใจในปัญหาสามารถจัดเป็น 3 แบบ คือ
(1) การตัดสินใจแบบมีโครงสร้าง (Structured Decision) เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาที่มีขั้นตอน หรือกระบวนการในการแก้ปัญหาที่แน่ชัด
(2) การตัดสินใจแบบไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Decision) เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาที่ไม่สามารถกำหนดกระบวนการตัดสินใจได้ล่วงหน้า หรือเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบหรือความสัมพันธ์ที่ไม่ทราบ
(3) การตัดสินใจแบบกึ่งโครงสร้าง (Semi – structured Problems) เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาที่สามารถระบุกระบวนการหรือวิธีการตัดสินใจได้ล่วงหน้าในบางส่วน แต่ไม่มากพอที่จะนำไปสู่การตัดสินใจตามที่แนะนำได้อย่างแน่นอน อีกส่วนหนึ่งจะต้องใช้ประสบการณ์และวิจารณญาณของผู้ตัดสินใจ
ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ หรือ DSS คือระบบแบบโต้ตอบที่ใช้คอมพิวเตอร์โดยอาศัยความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ระบบได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่ายและสะดวก มีความยืดหยุ่นและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลได้ โดยระบบจะไม่ทำการตัดสินใจแทนผู้บริหาร แต่จะรวบรวมข้อมูลและแบบจำลองที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารในปัญหาแบบกึ่งโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง ระบบ DSS ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ ส่วนจัดการข้อมูล ส่วนจัดการตัวแบบ และส่วนจัดการโต้ตอบ โดยที่ระบบ DSS ขั้นสูงจะมีส่วนจัดการองค์ความรู้เป็นอีกส่วนประกอบหนึ่ง
ระบบ DSS แตกต่างจากระบบ TPS และระบบ MIS โดยระบบ TPS มีการจัดการข้อมูลสำหรับงานประจำวัน มีกระบวนการใช้ระบบที่สอดคล้องกับขั้นตอนการปฏิบัติงานและกฎเกณฑ์การทำงานที่ชัดเจน สำหรับระบบ MIS จะให้สารสนเทศเพื่อการควบคุม ตรวจสอบการปฏิบัติงานและสรุปผลการดำเนินงานและช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในปัญหาแบบโครงสร้างได้
ระบบสนับสนุนการตัดสินใจกลุ่มหรือ GDSS เป็นระบบแบบโต้ตอบที่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจร่วมกันของกลุ่มบุคคล สมาชิกในกลุ่มไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เดียวกัน ระบบ GDSS ต้องอาศัยเทคโนโลยีด้านการสื่อสารเพื่อเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ของสมาชิกเข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร และความคิดเห็นภายในกลุ่มได้

ระบบสารสนเทศสำหรับผู้บริหารระดับสูง
ผู้บริหารระดับสูงมีบทบาทหลัก 3 ด้าน คือ
(1) บทบาทในการสร้างสัมพันธภาพที่ดี
(2) บทบาทด้านข้อมูลข่าวสาร และ
(3) บทบาทด้านการตัดสินใจ
โดยการตัดสินใจของผู้บริหารสามารถแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ คือ การตัดสินใจเชิง กลยุทธ์ การตัดสินใจเชิงยุทธวิธี การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การตรวจสอบและควบคุม
ผู้บริหารสามารถใช้ระบบ ESS เป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการบริหารและตัดสินใจ โดยระบบได้รับการพัฒนาให้มีความเหมาะสมและง่ายต่อการใช้งาน สอดคล้องกับความต้องการ ทักษะ รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลของผู้บริหาร
ผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาระบบ ESS โดยสามารถช่วยผลักดันให้การพัฒนาระบบเป็นไปอย่างราบรื่นได้ ให้การสนับสนุนและจัดหาทรัพยากร ให้ความร่วมมือกับทีมงานพัฒนาระบบเพื่อให้สามารถรวบรวมความต้องการของผู้บริหารและนำมาออกแบบระบบให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานต่อไป นอกจากนั้นแล้วการมีทัศนคติที่ดีต่อระบบสารสนเทศและเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการวางแผน กลยุทธ์และบริหารองค์การจะก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นแบบอย่างในการนำใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาให้เกิดประโยชน์ต่อองค์การ

ไม่มีความคิดเห็น: